กราฟต์ผมคืออะไร ?
กราฟต์ผม (Hair Graft) หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กอผม (Follicular Unit Graft; FUG) คือ ส่วนของกอผมที่ถูกเจาะออกมาจากหนังศีรษะ เพื่อที่จะนำไปปลูกในบริเวณที่ต้องการ โดยกราฟต์ผม 1 กราฟต์ หรือ 1 กอ อาจจะประกอบไปด้วยเส้นผมตั้งแต่ 1-4 เส้น
ตำแหน่งของกราฟต์ผมที่จะนำออกมาใช้ในการปลูกผมนั้น นิยมนำมาจากศีรษะทางด้านหลัง เพราะเป็นบริเวณที่เส้นผมมีความแข็งแรง และไม่มีผลกระทบจากฮอร์โมน DHT ซึ่งฮอร์โมน DHT นั้น เป็นฮอร์โมนที่ทำให้เส้นผมชะลอการเจริญเติบโตและหยุดการสร้างเส้นผมใหม่ จนเกิดผมร่วงผมบางในที่สุด
ดังนั้นในการปลูกผม แพทย์จะนำกราฟต์ผมบริเวณท้ายทอย ซึ่งเป็นตำแหน่ง safe donor area มาปลูกในบริเวณที่มีปัญหา เพราะเป็นเส้นผมที่มีคุณสมบัติที่แข็งแรง ไม่หลุดร่วงง่าย และรากผมไม่ถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมน DHT นั่นเอง
การปลูกผมในแต่ละครั้งควรใช้กราฟต์ผมกี่กราฟต์
โดยปกติ ความหนาแน่นของเส้นผมตามธรรมชาติในพื้นที่ 1 ตารางเซนติเมตร จะมีกราฟต์ผมเฉลี่ยประมาณ 80-100 กราฟต์/ตารางเซนติเมตร ซึ่งจำนวนกราฟต์ที่จะนำมาปลูกผมในแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น
- ขนาดของพื้นที่ ที่จะทำการปลูกผม หากปัญหาผมบาง ศีรษะล้านเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย หรือหากเป็นการปลูกแทรกบริเวณที่มีผมอยู่แล้วเพื่อให้เส้นผมดูหนาแน่นขึ้น อาจจะใช้จำนวนกราฟต์ที่ไม่มาก แต่ถ้ามีศีรษะล้านจนเป็นวงกว้าง หรือปลูกเพื่อเติมกรอบหน้าในบริเวณที่ไม่มีเส้นผมอยู่เลย ก็จะใช้จำนวนกราฟต์ในปริมาณที่มากขึ้น
- ตำแหน่งที่ต้องการปลูกผม เช่น การปลูกผมกลางศีรษะ ความหนาแน่นอยู่ที่ประมาณ 30-50 กราฟต์/ตารางเซนติเมตร ในขณะที่การปลูกผมบริเวณด้านหน้า ความหนาแน่นของกราฟต์ผมจะอยู่ที่ประมาณ 50-60 กราฟต์/ตารางเซนติเมตร ซึ่งมีความหนาแน่นที่ไม่เท่ากัน ดังนั้นเมื่อคำนวณกราฟต์ต่อหน่วยพื้นที่ที่ต้องการปลูกผม ส่งผลให้จำนวนกราฟต์ที่ใช้แตกต่างกัน
- ความหนาแน่นของเส้นผมในพื้นที่เดิม หากพื้นที่ที่ต้องการปลูกผมเป็นศีรษะล้าน ไม่มีผมเลยก็จะต้องปลูกด้วยจำนวนกราฟต์แบบเต็มจำนวนตามที่คำนวณได้ แต่หากพื้นที่นั้นมีผมบ้างแล้ว หรือเป็นการปลูกแทรกเพื่อให้ดูหนาแน่นขึ้น ก็อาจจะใช้ปริมาณกราฟต์ที่ลดลง
- เทคนิคที่ใช้ในการปลูกผม ปัจจุบันมีเทคนิคการปลูกผมโดยใช้ปากกาปลูกผม (Implanter) วิธีการนี้จะเจาะ และใส่กราฟผมลงไปในผิวหนังด้วยการเจาะเพียงครั้งเดียว ทำให้ปลูกผมได้มากกว่า 60 กราฟต์/ตารางเซนติเมตร ในขณะที่การปลูกแบบใช้เข็มเจาะ แล้วใช้คีมคีบกราฟต์ผมใส่ลงไปในตำแหน่งที่เจาะ วิธีการนี้จะทำให้ผิวตึงชั่วขณะ หากปลูกผมขณะที่หนังศีรษะตึง จะไปดันกราฟต์ผมที่ปลูกไปแล้วถูกดันออกมาจากผิวหนัง ทำให้ปลูกผมได้ไม่หนาแน่นมากนัก อาจได้ประมาณ 40 กราฟต์/ตารางเซนติเมตร
- เส้นผมบริเวณด้านหลัง (Donor area) ลักษณะของเส้นผมบริเวณด้านหลังหากมีขนาดเล็ก ก็จะต้องใช้กราฟต์ผมจำนวนมากเพื่อจะปลูกผมได้เต็มพื้นที่ แต่หากเส้นผมมีขนาดใหญ่ ก็จะใช้ปริมาณกราฟต์ผมที่ลดลง นอกจากนี้ ปริมาณของกราฟต์ผมบริเวณด้านหลัง หากมีปริมาณมาก ก็สามารถนำไปปลูกได้มาก แต่ถ้าผมด้านหลังมีปริมาณน้อย จำนวนกราฟต์ผมที่นำไปปลูกได้ ก็จะน้อยลง
- ลักษณะการดำเนินโรค หากภาวะผมบางนั้นเกิดจากฮอร์โมน เส้นผมในส่วนอื่นๆที่ไม่ใช่ผมจากการปลูกผมถาวร มีโอกาสที่จะหลุดร่วงต่อไปได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะหากปลูกผมในกรณีที่อายุยังน้อย อาจมีโอกาสที่จะปลูกผมมากกว่าหนึ่งรอบ ดังนั้นแพทย์จะไม่ได้นำผมทั้งหมดมาปลูกในครั้งเดียว จะเหลือไว้เพื่อการปลูกผมเพิ่มในอนาคต
สำหรับการประเมินกราฟต์นั้น จำเป็นต้องเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้จำนวนกราฟต์ที่แน่นอน เพราะมีหลายปัจจัยที่แพทย์จำเป็นต้องพิจารณา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
โดยปกติการผ่าตัดปลูกผมแต่ละครั้งนั้น จะใช้จำนวนกราฟต์ตั้งแต่ 500-4000 กราฟ ขึ้นอยู่กับปัญหาที่มี ความต้องการของคนไข้ และกราฟต์ผมที่จะนำออกมาได้ แต่หากจำเป็นที่จะต้องใช้กราฟต์มากกว่านั้น แพทย์อาจจะพิจารณาแบ่งการรักษาออกเป็นมากกว่า 1 ครั้ง
เนื่องจากหากจำเป็นต้องใช้ปริมาณกราฟต์ที่มากกว่านี้ อาจจะใช้เวลาปลูกผมที่นาน อาจจะทำให้เซลล์รากผมเสื่อมสภาพหรือเซลล์รากผมตาย ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการปลูกผมลดลงนั่นเอง